ภาษาชั้นสูง (High – level Language)

สามารถเรียกได้อีกอย่างว่าเป็นภาษารุ่นที่ 3 (3rd Generation Language หรือ 3GLs) เป็นภาษาที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้สามารถเขียน และอ่านโปรแกรมได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีลักษณะเหมือนภาษาอังกฤษทั่วๆไป และที่สำคัญ คือ ผู้เขียนโปรแกรม ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับ ระบบฮาร์ดแวร์แต่อย่างใด ตัวอย่างของภาษาประเภทนี้ได้แก่ ภาษาฟอร์แทรน(Fortran) , โคบอล (Cobol) , เบสิก (Basic) , ปาสคาล (Pascal) , ซี(C) , เอดา(ADA) เป็นต้น

อย่างไรก็ตามโปรแกรมที่ถูกเขียนด้วยภาษาประเภทนี้จะทำงานได้ ก็ต่อเมื่อมีการแปลงให้เป็นภาษาเครื่องเสียก่อน ซึ่งวิธีการแปลงจากภาษาชั้นสูง ให้เป็นภาษาเครื่องนั้น จะทำได้โดยใช้โปรแกรมที่เรียกว่า คอมไพเลอร์(Compiler) หรือ  อินเตอร์พรีเตอร์ (Interpreter)  อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยภาษาชั้นสูงแต่ละภาษาจะมีตัวแปลภาษาเฉพาะเป็นของตัวเอง ดังนั้นจึงไม่สามารถนำตัวแปลของภาษาหนึ่งไปใช้กับอีกภาษาหนึ่งได้ ตัวอย่างเช่น ภาษาโคบอลจะมีตัวแปลภาษาที่เรียกว่า โคบอลคอมไพเลอร์ ไม่สามารถนำคอมไพเลอร์ของภาษาโคบอลนี้ไปใช้แปลภาษาปาสคาลได้ เป็นต้น

การเขียนโปรแกรมด้วยภาษาขั้นสูงนั้นนอกจากจะให้ความสะดวกแก่ผู้เขียนเป็นอันมากแล้ว ผู้เขียนแทบจะไม่ต้องมีความรู้ เกี่ยวกับการทำงานของ ระบบฮาร์ดแวร์ก็สามารถเขียนโปรแกรมสั่งให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานได้ นอกจากนี้ยังมีข้อดีอีกอย่างคือ สามารถนำโปรแกรม ที่เขียนนี้ ไปใช้งานบนเครื่องใดก็ได้ คือมีลักษณะที่ไม่ขึ้นอยู่กับเครื่อง (Hardware Independent) เพียงแต่ต้องทำการแปลโปรแกรมใหม่เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามภาษาเครื่อง ที่ได้จากการแปลภาษาชั้นสูงนี้ อาจเยิ่นเย้อ และไม่มีประสิทธิภาพ เท่ากับการเขียนด้วยภาษาเครื่องหรือแอสเซมบลีโดยตรง

ภาษารุ่นที่ 3 นี้ ส่วนใหญ่จะจัดอยู่ในกลุ่มของ ภาษามีแบบแผน (Procedural Language) เนื่องจาก ลักษณะการเขียนโปรแกรม จะมีโครงสร้างแบบแผนที่เป็นระเบียบ กล่าวคือ งานทุกอย่างผู้เขียนโปรแกรม ต้องเขียนโปรแกรมควบคุม การทำงานเองทั้งหมด และต้องเขียนคำสั่งการทำงานที่เป็นขั้นเป็นตอนทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบบฟอร์มกรอกข้อมูล การประมวลผล หรือการสร้างรายงาน ซึ่งโปรแกรมที่เขียนจะค่อนข้างซับซ้อน และใช้เวลาในการพัฒนาค่อนข้างมาก

Leave a comment