ภาษาขั้นสูงมาก (Very high-level Language)

สามารถเรียกได้อีกอย่างว่า ภาษาในรุ่นที่ 4 (4GLs : Fourth-Generation Languages) ภาษานี้เป็นภาษาที่อยู่ในระดับสูงกว่าภาษารุ่นที่ 3 มีลักษณะของภาษาที่เป็นธรรมชาติ คล้ายกับภาษาพูดของมนุษย์ จะช่วยในเรื่องของการสร้างแบบฟอร์มบนหน้าจอ เพื่อจัดการเกี่ยวกับข้อมูล รวมไปถึงการออกรายงาน ซึ่งจะมีการจัดการที่ง่ายมากไม่ยุ่งยากเหมือนภาษารุ่นที่3 ตัวอย่างของภาษาในรุ่นที่ 4 ได้แก่ Informix-4GL , Focus , Sybase , InGres เป็นต้น

ลักษณะของ 4GL มีดังต่อไปนี้

1. เป็นภาษาแบบ Nonprocedural ซึ่งหมายความว่าผู้ใช้เพียงแต่บอกคอมพิวเตอร์ว่าต้องการอะไร แต่ไม่ต้องบอกถึงรายละเอียดว่าต้องทำอย่างไร คอมพิวเตอร์จะเป็นผู้จัดการให้เองหมด ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการสร้างแบบฟอร์มการรับข้อมูลจากผู้ใช้ ผู้เขียนโปรแกรมเพียงแต่ทำการออกแบบหน้าตา ของแบบฟอร์มนั้นบนโปรแกรมอิดิเตอร์(Editor) ใดๆและเก็บเป็นไฟล์ไว้ เมื่อจะเรียกใช้งานแบบฟอร์มก็เพียงแต่ใช้คำสั่งเปิดไฟล์นั้นขึ้นมา แสดงบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้โดยทันที ซึ่งต่างจากภาษารุ่นที่3 ซึ่งเป็นแบบ Procedural ผู้เขียนโปรแกรมจะต้องเขียนรายละเอียดของโปรแกรมทั้งหมด ว่าที่บรรทัดนี้ คอลัมน์จะให้แสดงข้อความหรือข้อมูลอะไรออกมา ซึ่งถ้าต่อไปจะมีการปรับเปลี่ยนหน้าตาของแบบฟอร์มก็จะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากอย่างยิ่ง หรือในการสร้างรายงานด้วย 4GLs ก็สามารถทำได้อย่างง่ายดาย เพียงแต่ระบุลงไปว่าต้องการรายงานอะไร มีข้อมูลใดที่จะนำมาแสดงบ้าง โดยไม่ต้องบอกถึงวิธีการสร้าง หรือการดึงข้อมูลแต่อย่างใด 4GLs จะจัดการให้เองหมด

ดังนั้นจะเห็นว่า ภาษาในรุ่นที่4 เป็นภาษาที่ผู้เขียนโปรแกรมเพียงแต่บอกว่าต้องการอะไร (What) แต่ไม่ต้องบอกคอมพิวเตอร์ว่าให้ทำอย่างไร (How) แต่ภาษาในรุ่นที่3 ผู้เขียนโปรแกรมต้องบอกคอมพิวเตอร์ทั้งหมดว่าต้องการทำอะไร และต้องบอกด้วยว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งจะต้องสั่งให้คอมพิวเตอร์ ทำงานเป็นขั้นตอน และคอมพิวเตอร์ก็จะมีหน้าที่ทำงานตามที่ผู้เขียนโปรแกรมสั่งนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม 4GLs ก็สามารถมีรูปแบบเป็น Procedural ได้ด้วย เนื่องจากงานบางงานอาจมีความซับซ้อน จึงต้องอาศัยการเขียนโปรแกรมที่เป็นแบบ Procedural เข้าช่วยด้วย จึงสรุปได้ว่า 4GL จะมีรูปแบบผสมระหว่าง Procedural และ Nonprocedural

2. ส่วนใหญ่จะพบว่า 4GLs มักจะอยู่ควบคู่กับระบบฐานข้อมูล โดยผู้ใช้ระบบฐานข้อมูลจะสามารถจัดการฐานข้อมูลได้โดยผ่านทาง 4GLs นี้

ส่วนประกอบของภาษา 4GLs โดยทั่วไปแล้ว 4GLs จะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วนดังต่อไปนี้

เครื่องมือช่วยสร้างรายงาน (Report Generators)
เป็นโปรแกรมสำหรับผู้ใช้ (End-users) ให้สามารถเขียนรายงานอย่างง่ายได้ด้วยตนเอง โดยผู้ใช้สามารถกำหนดเงื่อนไข และข้อมูลที่นำออกมาพิมพ์ในรายงาน รวมถึงรูปแบบของการพิมพ์ไว้ โปรแกรมช่วยสร้างรายงานนี้ จะทำการพิมพ์รายงานตามรูปแบบที่กำหนดไว้ให้
ภาษาช่วยค้นหาข้อมูล (Query Languages)
เป็นภาษาที่ช่วยในการค้นหาหรือดึงข้อมูลจากฐานข้อมูล ภาษานี้จะง่ายต่อการใช้งานมาก เนื่องจากจะอยู่ในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับภาษา อังกฤษมาก ตัวอย่างเช่น ภาษา SQL (Structured Query Language)    ภาษา QBE (Query-By-Example)   เช่น ค้นหาข้อมูลนักเรียนที่ชื่อ กมล  นามสกุล สนิทวงศ์ จากตาราง student ก็เขียนคำสั่งดังนี้   select * from student where name=”กมล” and lname=”สนิทวงศ์”;

เครื่องมือช่วยสร้างโปรแกรม (Application Generators)
จะมีรูปแบบการเขียนโปรแกรมเฉพาะตัว และสามารถเรียกใช้เครื่องมือช่วยสร้างโปรแกรมนี้ทำการแปลง 4 GLs ให้กลายเป็นโปรแกรมภาษารุ่นที่ 3 ได้เช่น ภาษาโคบอล หรือภาษาซี ซึ่งอาจนำภาษาโคบอล หรือภาษาซีที่แปลงแล้วไปพัฒนาต่อ เพื่อใช้กับงานที่ซับซ้อนมาก ๆ ต่อไปได้

ประโยชน์ของภาษา 4GL

เป็นภาษาที่ง่ายต่อการเรียนรู้ คำสั่งแต่ละคำสั่งสื่อความหมายได้อย่างชัดเจน
ประหยัดเวลาในการเขียนโปรแกรมได้มาก เนื่องจาก 1 คำสั่งของภาษา 4GL สามารถแทนคำสั่งของภาษารุ่นที่ 3 ถึงมากกว่า 100 คำสั่ง
สนับสนุนการจัดการฐานข้อมูล สามารถจัดการกับข้อมูลได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว
สามารถสร้างแบบฟอร์มเพื่อจัดการกับข้อมูลในฐานข้อมูล และออกรายงานได้อย่างง่ายดาย ไม่ยุ่งยาก
มีเครื่องมือการใช้งาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเขียนโปรแกรมมากพอสมควร
สามารถทำงานในลักษณะ Interactive คือมีการตอบโต้กับผู้ใช้ได้ทันที

Leave a comment